หากพูดถึงของฝากชื่อดังจากจังหวัดสุพรรณบุรีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน นอกจากกาแฟถั่วดาวอินคา และข้าวไรซ์เบอร์รี่แล้ว ในส่วนของขนมหวานคงหนีไม่พ้น ขนม สาลี่ อย่างแน่นอน หากใครเคยเดินทางไปเที่ยวสุพรรณบุรีอยู่บ่อย ๆ คงจะทราบดีว่าขนมชนิดนี้เป็นของฝากที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ถือเป็นขนมไทยโบราณที่หาทานได้ไม่ง่ายนัก เพราะจะมีให้เห็นแค่บางพื้นที่ หากใครแวะไปเที่ยวสุพรรณบุรีก็จะมีโอกาสได้ทานแน่นอน แต่ถ้าใครแวะไปไม่ได้ วันนี้เราก็มีสูตรการทำขนมสาลี่มาฝากด้วย
ทำความรู้จัก ขนม สาลี่ แตกต่างจากถ้วยฟู และปุยฝ้ายอย่างไร

ในอดีตจะนิยมทาน ขนมสาลี่ คู่กับน้ำแข็งไส หรือไอศกรีม เพราะสามารถเข้ากันได้ดี แต่ภายหลังได้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นขนมทานเล่นโดยเฉพาะ หลายคนอาจสับสนว่าระหว่าง ถ้วย ฟู ปุยฝ้าย สาลี่ แตกต่างกันอย่างไร ต้องบอกว่าขนมถ้วยฟูจะมีเนื้อสัมผัสเหนียวนุ่มคล้ายขนมตาล หน้าขนมแตกเป็นแฉกเล็กน้อย ส่วนขนมปุยฝ้ายจะมีเนื้อสัมผัสเนียนนุ่มคล้ายขนมเค้ก หน้าขนมแตกบานเป็นแฉก ในขณะที่ ขนมสาลี่ จะมีเนื้อสัมผัสแน่น หน้าขนมไม่มีแฉก นิยมอบใส่ถาดและตัดแบ่งเป็นชิ้น ๆ ตกแต่งหน้าด้วยลูกเกด
แชร์สูตร ขนม สาลี่ มีกลิ่นหอมน่าทาน แป้งนุ่มฟูสวยงาม โรยหน้าด้วยลูกเกด

เมื่อทราบกันแล้วว่า ถ้วยฟู ปุยฝ้าย และสาลี่ แตกต่างกันอย่างไร เราหวังว่าต่อไปทุกคนจะสามารถแยกได้แบบไม่สับสน ถ้าหากเทียบขนมทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ต้องบอกว่าขนม สาลี่ มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างอย่างชัดเจน เนื่องจากหน้าขนมจะไม่มีแฉกนั่นเอง สำหรับใครที่สนใจอยากจะลองทำทานเอง วันนี้เรามี สูตรขนม สาลี่ โบราณมานำเสนอด้วย บอกเลยว่าสูตรนี้ทำตามได้ไม่ยาก อาจไม่ใช่สูตรต้นตำรับดั้งเดิม แต่ถ้าทำออกมาแล้วรับรองว่าอร่อยไม่แพ้กันอย่างแน่นอน
วัตถุดิบและส่วนผสม

- แป้งเค้ก 120 กรัม
- ไข่ไก่ (เบอร์ 2) 3 ฟอง
- ผงฟู 1 ช้อนชา
- น้ำตาลทราย 130 กรัม
- เอสพี 10 กรัม
- กลิ่นมะลิ 1/2 ช้อนชา
- เกลือ 1/4 ช้อนชา
- น้ำเปล่า 70 กรัม
- สีผสมอาหาร
- ลูกเกด
วิธีการทำขนมสาลี่

- เริ่มต้นจากกรุกระดาษไขใส่ถาด จากนั้นมาเตรียมส่วนของแป้ง นำแป้งเค้กมาผสมกับผงฟูให้เข้ากัน และร่อนใส่ถ้วยเพื่อให้เนื้อแป้งฟูเบา เติมเกลือลงไปเล็กน้อยและคนผสมให้เข้ากัน เสร็จแล้วพักไว้
- นำน้ำตาลทราย ไข่ไก่ เอสพี และน้ำเปล่า มาใส่ในภาชนะ จากนั้นตีส่วนผสมให้เข้ากัน ใช้เครื่องตีแป้งด้วยความเร็วสูง 6 นาที
- เมื่อตีจนส่วนผสมฟูขึ้นมาแล้วให้ใส่กลิ่นมะลิลงไป จากนั้นลดความเร็วในการตีเป็นความเร็วต่ำสุด เสร็จแล้วทยอยใส่แป้งที่ร่อนไว้ลงไปจนหมด
- เมื่อแป้งและส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ใส่สีผสมอาหารลงไป รอจนสีผสมอาหารเข้ากันกับแป้งและส่วนผสมอื่น ๆ จากนั้นหยุดการใช้งานเครื่องตีแป้ง และนำไม้พายมาคนตะล่อม ๆ ให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี
- เทส่วนผสมลงในถาดที่กรุด้วยกระดาษไข ขนาดของถาดที่เหมาะกับสูตรนี้ คือ 8×8 หรือ 9×9 นิ้ว หลังจากนั้นเกลี่ยส่วนผสมให้เรียบและเสมอกัน
- นำลูกเกดไปแช่น้ำร้อนให้นิ่มประมาณ 15-20 นาที หลังจากนั้นนำมาตกแต่งหน้าขนม โดยวางลูกเกดลงไปและเว้นระยะห่างแต่ละชิ้นให้เท่า ๆ กัน
- ตั้งหม้อต้มน้ำให้เดือดและนำขนมลงไปนึ่งด้วยไฟกลางประมาณ 12-15 นาที หลังจากนึ่งจนครบตามเวลาที่กำหนด หากเปิดฝาออกมาแล้วพบว่าลูกเกดที่ใส่ลงไปจมลงไปในแป้ง
- สามารถนำลูกเกดมาตกแต่งหน้าเพิ่มอีกครั้งได้ เพียงเท่านี้ก็จะได้ขนมสาลี่พร้อมทาน สามารถใช้มีดตัดแบ่งเป็นชิ้น ๆ ได้เลย
แนะนำวิธีทำ ขนม สาลี่ สูตรโบราณตามต้นตำรับดั้งเดิม แป้งนุ่มฟู รสหวานหอมกำลังดี

สูตรที่เราแนะนำไปข้างต้นจะไม่ใช่สูตรต้นตำรับเหมือนในอดีต เนื่องจากวัตถุดิบบางอย่างหาได้ค่อนข้างยาก และวิธีการทำถูกดัดแปลงไปตามยุคสมัยและความสะดวก สำหรับใครที่สนใจ วิธีทำขนมสาลี่ แบบต้นตำรับดั้งเดิม แนะนำให้เปลี่ยนจากกลิ่นมะลิเป็นกลิ่นนมแมว และใช้ไข่เป็ดแทนไข่ไก่ นอกจากนี้ ขนมสาลี่โบราณจะไม่ใส่เอสพีด้วย แต่ถ้าหากต้องการเนื้อสัมผัสนุ่มฟูก็สามารถใส่ได้ หากใครต้องการ ขนมสาลี่ ไหว้เจ้า ก็สามารถนำสูตรนี้ไปทำตามกันได้เลย
สาลี่ จากขนมไทยโบราณ กลายมาเป็นของฝากขึ้นชื่อจากสุพรรณบุรี

สาลี ถือเป็นขนมท้องถิ่นของเมืองสุพรรณ ซึ่งถูกคิดค้นในปี พ.ศ. 2485 โดยคุณแม่บ๊วย แซ่ตั้ง และเตี่ยกิม แซ่ตั้ง ในอดีตทั้งสองท่านได้เปิดร้านขายขนมในอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี สำหรับที่มาของชื่อขนมนั้นสันนิษฐานว่าอาจเพี้ยนมาจากคำว่าสาลี ชื่อตำบลในอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี หรืออาจมาจากการใช้แป้งสาลีในการทำช่วงแรก ๆ ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นขนมโบราณ แต่ในปัจจุบัน ขนมสาลี่ กลายเป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดสุพรรณบุรีไปแล้ว
อ่านบทความอื่นๆ: