Home

ขนมต้ม

ถ้าพูดถึงขนมที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เชื่อว่าหนึ่งในนั้นจะต้องเป็นเมนขนมหวานที่หาทานได้ง่าย และมีมานานแล้ว จนกระทั่งในปัจจุบันก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ นั่นก็คือ ขนมต้ม นั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นขนมที่ทำได้ค่อนข้างง่าย มีขายอยู่ทั่วไป นับเป็นขนมไทยอีกหนึ่งชนิดที่มีรสชาติอร่อยลงตัว ทานพร้อมกับมะพร้าวขูดยิ่งเข้ากันไปอีก ซึ่งสูตรที่ทำกันในปัจจุบันนี้ก็ถูกดัดแปลงมาจากสูตรเก่าในอดีต อย่างไรก็ตามขนมชนิดนี้ก็ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนได้

ขนมต้ม ของหวานที่มาพร้อมกับลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้า

ขนมต้มคือ ขนมที่พบว่ามีหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย ซึ่งเข้ามาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์และลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้า ถือเป็น เมนูขนมไทยโบราณ ที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าพระพิฆเนศโปรดขนมชนิดนี้มาก ครั้งหนึ่งได้เสวยเข้าไปเต็มพุง ในระหว่างที่ขี่หนูกลับวิมานก็ได้ตกลงจากหลังหนูจนพุงแตก และหนูเห็นงูจนตกใจและหยุดทันที ต่อมาพระพิฆเนศก็โกยขนมใส่พุงเข้าไปใหม่แล้วใช้ซากงูที่ตายแล้วพันพุงและกลับวิมาน ภายหลัง ขนมต้ม จึงได้มีบทบาทสำคัญในพิธีบวงสรวงเทวดาในพิธีกรรมต่าง ๆ

แจกสูตร ขนมต้ม เมนูขนมไทยทำง่าย ใครทำก็อร่อย

สำหรับใครที่ชอบทาน ของหวานไทย และอยากจะลองทำขนมทานเองสักครั้ง บอกเลยว่ามีขนมหลายชนิดที่เราสามารถฝึกทำได้ง่าย ๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ ขนมต้ม นั่นเอง ต้องบอกว่าขนมชนิดนี้มีมาตั้งแต่ในอดีต แต่ทุกวันนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย เพราะถือเป็นขนมที่ทำได้ง่าย ใช้วัตถุดิบไม่มากนัก ไม่ว่าใครจะทำก็อร่อย วันนี้เรามี สูตรขนมต้ม แบบง่าย ๆ มานำเสนอ รับรองว่าสูตรนี้ใครก็สามารถทำตามได้ ถ้าพร้อมแล้วไปดูส่วนผสมและวิธีทำกันเลย

วัตถุดิบและส่วนผสม

ส่วนผสมไส้ขนม

  1. มะพร้าวขูดขาว 150 กรัม
  2. น้ำตาลมะพร้าว 120 กรัม
  3. น้ำเปล่า 50 กรัม
  4. เกลือป่น 1/4 ช้อนชา

ส่วนผสมแป้งขนมต้ม

  1. แป้งข้าวเหนียว 200 กรัม
  2. หัวกะทิ 50 กรัม
  3. น้ำใบเตยคั้นสด 140 กรัม
  4. มะพร้าวขูดนึ่งสุก 150 กรัม

วิธีการทำ

  1. ขั้นตอนแรกเตรียมทำไส้ ตั้งกระทะโดยใช้ไฟอ่อน ใส่น้ำตาลมะพร้าวลงไป ตามด้วยน้ำเปล่า และเกลือป่น เคี่ยวจนน้ำตาลละลายและเหนียวจนเป็นสีน้ำตาลเข้ม
  2. ใส่มะพร้าวขูดขาวลงไป คลุกให้เข้ากันกับน้ำตาล จากนั้นผัดต่ออีกประมาณ 5 นาที เพื่อให้มะพร้าวสุกและแห้ง เสร็จแล้วปิดแก๊ส นำไส้ที่ได้ใส่ลงในภาชนะ พักไว้ให้เย็น
  3. เตรียมทำแป้งขนม ใส่แป้งข้าวเหนียวลงไปในถ้วยผสม ตามด้วยน้ำใบเตยคั้นสด และหัวกะทิ นวดแป้งให้เป็นเนื้อเดียวกัน เสร็จแล้วนำภาชนะคลุมแป้งไว้เพื่อไม่ให้โดนลม
  4. เตรียมปั้นไส้ แบ่งไส้มะพร้าวที่เย็นแล้วมาปั้นเป็นรูปวงกลมให้มีขนาดเท่า ๆ กันทุกลูก ปั้นแป้งขนมเป็นวงกลมและแผ่ออก นำไส้ที่ปั้นไว้ใส่ลงไปแล้วใช้แป้งหุ้มและคลึงเล็กน้อย เสร็จแล้ววางลงในถาดที่มีแป้งข้าวเหนียวโรยอยู่
  5. เตรียมต้มขนม ตั้งหม้อแล้วใส่น้ำลงไป ต้มน้ำด้วยไฟแรง เมื่อน้ำเดือดแล้วให้ลดเป็นไฟกลาง จากนั้นใส่ขนมที่เตรียมไว้ลงไปต้มทีละลูก เมื่อขนมต้มลอยตัวขึ้นมาทุกลูก ให้ต้มต่ออีก 3 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าสุกแล้ว
  6. เมื่อขนมต้มทุกลูกสุกแล้วให้ตักขึ้นสะเด็ดน้ำ จากนั้นนำไปวางลงบนมะพร้าวขูดขาวที่นึ่งจนสุกแล้ว โดยคลุกให้มะพร้าวติดทั่วเนื้อขนมต้ม จัดใส่จานเสิร์ฟ ถือเป็นอันเสร็จ

การดัดแปลงสูตรการทำ ขนมต้ม ให้อร่อยลงตัวมากยิ่งขึ้น

ขนมต้ม ขาวจะใช้แป้งข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลม ๆ จากนั้นใส่ไส้น้ำตาลหม้อลงไปต้มให้สุก เสร็จแล้วโรยด้วยมะพร้าวขูด จนกระทั่งต่อมาสูตรการทำ ขนมไทยโบราณ ชนิดนี้ได้ถูกดัดแปลงให้ดูน่าทานมากขึ้น โดยจะทำหน้ากระฉีก ซึ่งเป็นการนำมะพร้าวขูดไปเคี่ยวกับน้ำตาลหม้อจนเหนียว ลักษณะเช่นนี้จะเหมาะกับการเป็นไส้ของขนม จึงมีการใส่ไส้มะพร้าวที่เคี่ยวกับน้ำตาลลงไป ในปัจจุบัน ขนมต้มใบเตย ได้รับความนิยมอย่างมาก ในขณะที่ เมนูของหวานไทย หลาย ๆ เมนูก็ยังใช้มะพร้าวขูดเป็นส่วนประกอบหลัก

เคล็ดลับการทำให้มะพร้าวขูดขาวอยู่ได้นาน ไม่บูดง่าย

หลายคนที่เคยทำ ขนมไทย จะรู้ดีว่ามะพร้าวขูดนั้นสามารถบูดได้ง่าย โดยเฉพาะการนำมะพร้าวขูดมาทำขนมและผสมกับวัตถุดิบอื่น ๆ โอกาสที่จะบูดก็จะมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นหากคุณไม่อยากให้มะพร้าวขูดในขนมบูด แนะนำให้นำไปนึ่งจนสุกก่อน โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที จะช่วยให้มะพร้าวบูดได้ยาก จากนั้นเพิ่มความเค็มปะแล่ม ๆ ด้วยการโรยเกลือปลายช้อน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดโอกาสที่มะพร้าวจะบูดง่ายแล้ว ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับ ขนมไทย ง่ายๆ เมนูอื่นได้ด้วย

ความแตกต่างในการเรียกชื่อ ขนมต้ม ของแต่ละสถานที่

คำว่า ขนม ต้ม ในแต่ละพื้นที่จะมีความหมายที่แตกต่างกัน สำหรับภาคใต้จะต่างจากภาคกลางตรงที่ใช้ข้าวเหนียวมาผสมกับน้ำกะทิห่อใบกะพ้อ จากนั้นนำไปต้มจนสุก ซึ่งบางพื้นที่จะเรียกเมนูนี้ว่าห่อต้ม ในขณะเดียวกันภาคกลางจะเรียกข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มผัด ซึ่งแตกต่างจาก ขนมไทยโบราณ อย่าง ขนมต้ม ทั้งนี้ สูตรขนมไทย หลายสูตรก็จะนิยมใช้แป้งหรือข้าวเป็นวัตถุดิบหลักในการทำขนม แต่ละเมนูจึงมีอะไรบางอย่างคล้าย ๆ กัน แต่ก็ใช่ว่าจะเหมือนกันทั้งหมด